วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เพลงอาเซียน

เพลงประจำอาเซียน (ASEAN Anthem) - "The ASEAN Way"




ธงประจำสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
Flag of the Association of South East Asian Nations (ASEAN)


ช่วงขณะที่เขียนบล็อกนี้คือกลางเดือนกุมภาพันธ์ของปีพุทธศักราช 2552 ซึ่งเป็นปีสำคัญที่ประเทศไทยเราได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 14 ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (เดิมจะจัดที่เชียงใหม่ในเดือน ธ.ค. 51 แต่ต้องเลื่อนไปด้วยเหตุผลทางการเมืองดังทราบกันดีอยู่แล้ว) ในระยะนี้ท่านคงจะได้ยินเพลงหนึ่งที่เริ่มเปิดประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งวิทยุและโทรทัศน์อย่างหนาหู ที่ขึ้นต้นว่า "Raise our flag high, sky high....." เพลงนี้มีชื่อว่า "The ASEAN Way" เป็นเพลงสำคัญที่จะบรรเลงในพิธีเปิดการประชุมอาเซียนซัมมิตครั้งนี้ และจะใช้เป็นเพลงประจำอาเซียนอย่างเป็นทางการต่อไป

ที่ว่าเป็น "เพลงประจำอาเซียน" ซึ่งเป็นคำที่ใช้อย่างเป็นทางการนี้ ฟังดูอาจจะงงเล็กน้อย ถ้าจะพูดให้ง่ายเข้าก็เหมือนกับใช้เป็นเพลงชาติของอาเซียนนั่นแหละครับ แต่ในที่นี้จะไปเรียกว่าเพลงชาติไม่ได้ เพราะอาเซียนมีฐานะเป็นองค์การระหว่างประเทศ หาได้มีฐานะเป็นรัฐชาติเป็นประเทศแต่อย่างใดไม่ (คำว่าเพลงชาติในภาษาอังกฤษนั้นเรียกว่า "National Anthem" ถ้าเรียกว่า "Anthem" เฉยๆ แปลเพียงว่าเพลงประจำหมู่คณะใดๆ เท่านั้น)

ว่าแล้วก็ขอเข้ารายละเอียดของเพลงเลยดีกว่า

ความเป็นมาของเพลงประจำอาเซียน (ASEAN Anthem)
(ข้อมูลโดยกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ)

ความเป็นมา

จุดเริ่มต้นของความคิดในการมีเพลงประจำอาเซียนเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก จากการหารือในที่ประชุมอาเซียนทางด้านวัฒนธรรมและสนเทศ (ชื่อทางการคือคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมและสนเทศ) ครั้งที่ 29 ในเดือนมิถุนายน ปี 2537 ซึ่งในครั้งนั้นที่ประชุม มีความเห็นตรงกันว่า อาเซียนควรจะมีเพลงประจำอาเซียน โดยกำหนดจะให้เปิดเพลงประจำอาเซียนในช่วงของการจัดกิจกรรมต่างๆ ทางด้านวัฒนธรรมและสนเทศ ทั้งนี้ในเรื่องการสนับสนุนด้านการเงินที่ประชุมตกลง ให้ใช้เงินจากกองทุนวัฒนธรรมอาเซียนเพื่อสนับสนุนการจัดทำโครงการเพื่อคัดเลือกเพลงประจำอาเซียน

ต่อมาในการประชุม ครั้งที่ 32 ของคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมและสนเทศในเดือนพฤษภาคม ปี 2540 ที่ประเทศมาเลเซีย ได้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อคัดเลือกเพลงในรอบสุดท้าย โดยเพลงที่เข้ารอบในครั้งนั้นเป็นเพลงจากไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ และเพลงASEAN Song of Unity หรือ ASEAN Oh ASEAN จากฟิลิปปินส์ได้รับรางวัลชนะเลิศ อย่างไรก็ดี เพลงดังกล่าวไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในประเทศสมาชิกอาเซียน เนื่องจากใช้เปิดเฉพาะในการ ประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมและสนเทศและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง

ด้วยเหตุนี้ทำให้ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่มาเลเซีย และที่สิงคโปร์ ประเทศที่เป็นเจ้าภาพการประชุมจึงได้แต่งเพลงเพื่อใช้เปิดในที่ประชุม โดยมาเลเซียแต่งเพลง “ASEAN Our Way” และสิงคโปร์แต่งเพลง "Rise"


บทบาทของไทยกับการจัดทำเพลงประจำอาเซียน

การจัดทำเพลงประจำอาเซียนเป็นการดำเนินการตามกฎบัตรอาเซียนโดย ข้อบทที่ 40 ระบุให้อาเซียนมีเพลงประจำอาเซียนโดยหากเป็นไปได้ให้เสร็จเรียบร้อยก่อนการให้สัตยาบันกฎบัตรอาเซียนและการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14

ประเทศไทยได้รับความไว้วางใจจากประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเพลงประจำอาเซียน โดยที่ประชุมประเทศสมาชิกอาเซียนได้เห็นชอบให้กำหนดรูปแบบการแข่งขันเป็น open competition โดยให้สำนักเลขานุการอาเซียนในแต่ละประเทศกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้นและจัดส่งให้ประเทศไทยภายในเดือนกันยายน 2551 โดยเนื้อร้องต้องมีเกณฑ์ ดังนี้ คือ
(1) เป็นภาษาอังกฤษ
(2) มีลักษณะเป็นเพลงชาติประเทศสมาชิกอาเซียน
(3) มีความยาวไม่เกิน 1 นาที
(4) เนื้อร้องสะท้อนความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนและความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมและเชื้อชาติ
(5) เป็นเพลงที่แต่งขึ้นใหม่
ทั้งนี้ ผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของการคัดเลือกเพลงในประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดการประชุมคณะกรรมการตัดสินเพื่อคัดเลือกเพลงภายในประเทศขึ้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2551 โดยมีเพลงจำนวน 11 เพลงที่ผ่านเกณฑ์ และประเทศไทยได้ส่งเพลงดังกล่าวเข้าร่วมการประกวดแข่งขันในระดับภูมิภาคอาเซียน

ในระดับภูมิภาคอาเซียน กรมอาเซียน ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประกวดแข่งขันเพลงประจำอาเซียนในระดับภูมิภาค รอบแรก เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2551 ที่โรงแรม Pullman Bangkok King Power โดยมีกรรมการจากประเทศมาชิกอาเซียนประเทศละ 1 คน ในส่วนของไทย ฯพณฯ องคมนตรี พล.ร.อ. อัศนี ปราโมช ได้ให้เกียรติรับเป็นกรรมการฝ่ายไทยโดยทำหน้าที่ประธานการประชุมคัดเลือกเพลงและได้คัดเลือกเพลงจำนวน 10 เพลง จากที่ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 99 เพลง รอบตัดสินเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 ประกอบด้วยกรรมการจากอาเซียน 10 คนเดิม และจากนอกอาเซียนอีก 3 คน ได้แก่จากญี่ปุ่น จีน และออสเตรเลียร่วมตัดสินด้วย ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เลือกเพลง ASEAN Way ของไทยที่แต่งโดย นายกิตติคุณ สดประเสริฐ (ทำนองและเรียบเรียง) นายสำเภา ไตรอุดม (ทำนอง) และนางพะยอม วลัยพัชรา (เนื้อร้อง) ให้เป็นเพลงประจำอาเซียน


กรมอาเซียนได้เป็นเจ้าภาพจัดงานเปิดตัวเพลงประจำอาเซียนเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 ณ โรงละครอักษรา โดยมีวงดุริยางค์ทหารเรือบรรเลงเพลง ASEAN Anthem และเพลงยอดนิยมจากประเทศสมาชิกอาเซียน ในส่วนของไทยได้บรรเลงเพลง “ลาวดวงเดือน” โดยได้มีแขกผู้มีเกียรติจากส่วนราชการต่างๆ คณะทูต ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน กว่า 500 คนมาร่วมงาน ทั้งนี้ เพลงประจำอาเซียนจะใช้บรรเลงอย่างเป็นทางการในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 ที่หัวหิน

ความสำคัญของเพลงประจำอาเซียน

การมีเพลงอาเซียน ถือว่ามีความสำคัญต่ออาเซียนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก นับจากนี้ไปอาเซียนจะ มีเพลงประจำอาเซียนซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเสริมสร้างอัตลักษณ์ของอาเซียนในการเชื่อมโยงอาเซียนเข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ การได้รับความไว้วางใจจากประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็นเจ้าภาพจัดการประกวดแข่งขันครั้งนี้ รวมทั้งการที่เพลงจากไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นเพลงประจำอาเซียน ถือเป็นเกียรติภูมิของประเทศและแสดงถึงความสามารถของคนไทยด้วย

--------------------------------

สำหรับเนื้อร้องของเพลงมีดังนี้

Raise our flag high, sky high
Embrace the pride in our heart
ASEAN we are bonded as one
Look'in out to the world.
For peace, our goal from the very start
And prosperity to last.

We dare to dream we care to share.
Together for ASEAN
we dare to dream
we care to share for it's the way of ASEAN.


สำหรับท่านที่ต้องการทราบความหมายของเพลงเป็นภาษาไทย ผมก็ขอแปลดังนี้ (อาจจะขรุขระบ้าง แต่ขอเอาเนื้อหาใจความเป็นหลักสำคัญ)

ชูธงของเราขึ้นสูงสุดฟ้า
โอบเอาความภาคภูมิไว้ในใจ
อาเซียนเราผูกพันเป็นหนึ่ง
มองหมายมุ่งไปยังโลกกว้าง
เพื่อสันติภาพ คือเป้าหมายแรกสุด
และความเจริญมั่งคั่งคือเป้าหมายในที่สุดของเรา

เรากล้าที่จะฝัน เราใส่ใจที่จะแบ่งปัน
ร่วมกันเพื่ออาเซียน
เรากล้าที่จะฝัน
เราใส่ใจที่จะแบ่งปัน เพื่อเป็นวิถีแห่งอาเซียน


(ป.ล. ใครจะก็อปไปใช้ต่อก็เชิญได้เลยครับ แต่ขออย่างเดียวว่าให้เครดิตคนแปลด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งครับ)

ไฟล์บันทึกเสียงของเพลง The ASEAN Way ขณะนี้มีอยู่ 2 เวอร์ชั่นที่แพร่หลายในอินเตอร์เน็ต ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? ตรงนี้ขออนุญาตโควตข้อความของ อ.สำเภา ไตรอุดม (ในนามแฝง dukeudom) จากกระทู้พันทิปที่ C7505100 "The Asean Way เพลงชนะเลิศของคนไทยเวอร์ชั่นใหม่ครับ มีให้ downloadฟัง" มาอธิบายครับ

"เดิมความแล้วหลายอย่างเกิดขึ้นครับ เวอร์ชั่นที่อยู่ในเน็ตส่วนใหญ่เป็นอันที่พวกเราส่งประกวดกัน แต่นี่คือเวอร์ชั่นล่าสุดที่เราทำกันขึ้น โดยเอาเสียงวงดนตรีราชนาวีมา พร้อมแทรคร้องจากวงสวนพลู ซึ่งมีเวลามาบันทึกเพียง 30 นาทีและนักร้องมาไม่ครบชุดที่ซ้อมไว้ ก็เลยไม่ค่อยดี แต่เวอร์ชั่นนี้โดนทำเป็น CD แจกไปทั่วหมื่นกว่าแผ่นแล้วววว(ตอนแรกเขา(กระทรวงต่างฯ) ว่าจะเป็นชั่วคราว แต่อ้าววว เอาทำจริงเลยนี่นา)

เราเกรงว่าถ้าไม่ดีพอ ก็จะโดนครหา ยิ่งประเทศเพื่อนบ้านเราเก่งดนตรีกันเยอะ แต่เขาไม่ได้ชนะงานนี้ จะนินทาเราได้ ก็เลยควักกระเป๋าจ่ายกันเอง ทำใหม่เพิ่มเติมครับ..."


ท้ายสุดนี้ขอเชิญฟังเพลง The ASEAN Way จากไฟล์วีดีโอยูทูปข้างล่างนี้ได้เลยครับ (ไฟล์แรกใช้เพลงเวอร์ชั่นที่ชนะการประกวด ไฟล์ที่ 2 ใช้เพลงเวอร์ชั่นที่บันทึกเสียงใหม่ ซึ่งสามารถโหลดได้จากเว็บไซต์ของ อ. สำเภาครับ)

-------------------------------------------------------------------------

อ้างอิง:
* http://www.sunshineofmyart.com/
* http://www.14thaseansummit.org/thai/activities_01_2.php
* จากกระทู้พันทิปที่ C7505100 "The Asean Way เพลงชนะเลิศของคนไทยเวอร์ชั่นใหม่ครับ มีให้ downloadฟัง"

ที่มา: http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=xiengyod&month=16-02-2009&group=11&gblog=1